เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ดร. รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้แทนเข้าร่วม การประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อน “จังหวัดคุณธรรม” กิจกรรมสัมมนาพัฒนาและขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรม ณ โรงแรมเดอะ คาวาลิ คาซ่า รีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจัดโดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ เครือข่ายบุคคล องค์กรภาครัฐ องค์กรเอกชน และประชาชน รวมทั้งสิ้น 300 คน ทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online
ในการนี้ ผู้แทนจากหน่วยงานขับเคลื่อนหลัก ได้แก่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการศาสนา ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ การบูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน “จังหวัดคุณธรรม” ตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยเป็นการแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรม อาทิ การถอดบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมา การชี้แจงแนวปฏิบัติ กลไกการประเมินและติดตามผลการดำเนินงาน การยกระดับความร่วมมือในทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านคุณธรรมให้เป็นรูปธรรม และยกระดับการพัฒนาด้านคุณธรรมของสังคมไทย ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ไปจนถึงระดับสังคม ได้แก่ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ เพื่อมุ่งสู่การสร้างสังคมแห่งคุณธรรมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา กล่าวในช่วงการเสวนาว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการพัฒนาคนด้านการศึกษา มีการดำเนินการส่งเสริมคุณธรรมแก่ผู้เรียนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดการศึกษาในหลักสูตรที่เน้นเรื่องหลักธรรมของศาสนาต่าง ๆ รวมถึงหน้าที่พลเมือง ที่มุ่งปลูกฝังให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านคุณธรรม นอกจากนี้ ได้นำเสนอ โครงการ “โรงเรียนคุณธรรม” ที่ริเริ่มจากแนวคิดการน้อมนำพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 มาเป็นแนวทางการดำเนินโครงการ โดยโครงการสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกศาสนา เพื่อสอดรับความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของประเทศไทย และมีจุดเน้นในการลดคุณลักษณะอันไม่พึงประสงค์ และเพิ่มคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยยึดหลักคุณธรรม 12 ประการ และสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ผ่านกลไกต่าง ๆ อาทิ การจัดทำแนวทางหรือคู่มือการดำเนินงาน การนิเทศกำกับติดตามเพื่อกระตุ้นการทำงาน การให้รางวัลเพื่อเสริมแรงให้เกิดการตื่นตัวในการดำเนินการ รวมทั้งกิจกรรมบูรณาการต่าง ๆ เช่น โรงเรียนดี ต้องมีที่ยืน กิจกรรมคุรุคุณธรรม นวัตกรรมสร้างสรรค์คนดี การประกวดภาพยนตร์สั้นครอบครัวคุณธรรม การถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงในเรื่องของคุณธรรมทั้งในและนอกห้องเรียน ให้ทั้งผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งนักเรียน มีความตระหนัก มีหลักคิดอย่างเป็นเหตุและผล รวมทั้งได้ซึมซับคุณงามความดีอย่างเป็นธรรมชาติ
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้กล่าวในช่วงท้ายของการเสวนาว่า นักเรียนเปรียบเสมือนต้นกล้า ที่จะต้องได้รับการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม ทั้งในและนอกโรงเรียนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมออนไลน์ยุคปัจจุบัน ที่ทำให้เด็กเกิดความสับสนในการปฏิบัติ จึงควรให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาโดยอาศัยต้นแบบที่ดีในสังคม อีกทั้งเห็นว่า กระบวนการขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว หากแต่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันอย่างเข้มแข็งทั้งองคาพยพ เชื่อว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ในที่สุด