วันพุธ, 11 กันยายน 2567

รู้จัก โครงการ “อิ่มนี้เพื่อน้อง”

หลักการและเหตุผล

         จากสถานการณ์การเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ในทั่วทุกมุมโลก ทำให้การดำเนินชีวิตต้องเปลี่ยนวิถีใหม่ การเดินทาง การติดต่อประสานงาน การค้าขาย เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ฯลฯ ล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนักในทุกประเทศทั่วโลก รวมไปถึงการศึกษาที่ต้องมีการเปลี่ยนวิถีการเรียน เกิดการสื่อสารทางออนไลน์มากขึ้นกับกลุ่มนักเรียน
ที่มีความพร้อม

         อย่างไรก็ตาม โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร รวมถึงโรงเรียนขยายโอกาส ที่รัฐบาลโอบอุ้มดูแลมีค่าใช้จ่ายสนับสนุนรายหัวให้นักเรียน เช่น ค่าเสื้อผ้านักเรียน อุปกรณ์การเรียน ค่าอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง แต่ก็ยังมีโรงเรียนอีกเป็นจำนวนมากที่ขาดความพร้อมในเรื่องการพัฒนาอาหารกลางวัน อันส่งผลให้นักเรียนขาดโภชนาการที่ดี ไม่สามารถเติบโตสมวัยทั้งร่างกาย และสติปัญญา ซึ่งเด็กนักเรียนถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมือง

         ธนาคารออมสินเล็งเห็นปัญหาอันยิ่งใหญ่นี้ จึงเห็นว่าหากมีส่วนใดที่ธนาคารจะช่วยเหลือให้กำลังใจให้โอกาสนักเรียนให้มีความพร้อมในการเรียนรู้ ได้เดินหน้าในการศึกษาต่อ มีความรู้ความสามารถ และกลับมาเป็นกำลังในการพัฒนาท้องถิ่นได้ ธนาคารจะเร่งดำเนินการนั้นในทันที จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ธนาคาร ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการโครงการ “อิ่มนี้เพื่อน้อง”ประจำปี 2566 เป็นการให้ทุนในการพัฒนาแหล่งอาหารกลางวันอย่างยั่งยืนแก่นักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเน้นการดำเนินโครงการในลักษณะการมีจิตอาสา ร่วมกัน ทำดี อย่างมีปัญญา มีกระบวนการคิด วิเคราะห์การแก้ไขปัญหา เพื่อพัฒนาเรื่องแหล่งอาหารกลางวัน
เพิ่มโภชนาการที่ดีแก่นักเรียน โดยอาศัยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ตามบริบทของโรงเรียน

วัตถุประสงค์

๑.  เพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนขยายโอกาส มีการสร้างแหล่งอาหารกลางวันเพื่อใช้ประกอบอาหารและสร้างภาวะโภชนาการที่ดีให้แก่นักเรียน

         ๒.  เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเกิดทักษะด้านอาชีพ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการปฏิบัติ สนับสนุนให้นักเรียนเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข มีจิตอาสา มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และเกิดทักษะที่ใช้ในการดำรงชีวิตตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ

          ๓. เพื่อให้โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาแหล่งอาหารกลางวันแบบมีส่วนร่วม ระหว่างโรงเรียน และชุมชน รวมถึงเครือข่ายอื่น ๆ สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ใหม่ ๆ
ในการการพัฒนาแหล่งอาหารกลางวันให้กับนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาส

กลุ่มเป้าหมาย

โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดการเรียนการสอนในระดับ
ชั้นอนุบาล/ประถมศึกษา – มัธยมศึกษา (ขยายโอกาส จำนวนนักเรียนไม่ต่ำกว่า 120 คน  แต่ไม่เกิน 500 คน)

ประโยชน์ที่จะได้รับ          

นักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาส ได้รับทุนเพื่อนำไปพัฒนาแหล่งอาหารกลางวัน ส่งผลให้นักเรียนได้รับประทานอาหาร
ที่อิ่มท้องและถูกหลักโภชนาการ ทักษะด้านอาชีพให้กับนักเรียน ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง มีจิตอาสา และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ โดยอาศัยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน และโรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาแหล่งอาหารกลางวันแบบมีส่วนร่วม ระหว่างโรงเรียน และชุมชน รวมถึงเครือข่ายอื่น ๆ สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการการพัฒนาแหล่งอาหารกลางวันให้กับนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาส

ผู้รับผิดชอบโครงการ

นายสพลกิตติ์ สังข์ทิพย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและส่งเสริมคุณธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา

นางสาวเสาวนีย์ ทิพย์ฤกษ์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

หมายเลขโทรศัพท์ 02 288 5879

คลิกเพื่อให้คะแนนโพสต์นี้!
[Total: 0 Average: 0]